วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สถานที่ท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ


 จังหวัดศรีสะเกษ

ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่

อำเภออุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
ปราสาท วัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ ริมทางหลวงหมายเลข 226 ห่างจากจังหวัด 26 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ 2 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคตก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ ส่วนวิหารที่ก่อด้วยอิฐซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือ มีทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพระยาอนันตนาคราช ท่ามกลางเกษียรสมุทร และที่วิหารก่ออิฐทางด้านทิศใต้ มีทับหลังรูปพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่งเหนือนนทิ ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่นทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช, พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะและยังพบพระพุทธรูปนาคปรก, พระพุทธรูปปางสมาธิ, พระพิมพ์ดินเผา ฯลฯจากหลักฐานลวดลายที่ปรากฏบนหน้าบัน ทับหลัง และโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะจารึกที่หลืบประตูปราสาทสระกำแพงใหญ่ สรุปได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
 
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ห่างจากตัวจังหวัด 26 กิโลเมตรและห่างจากตัวอำเภอ 2 กิโลเมตร

ปราสาทบ้านปราสาท (ปราสาทห้วยทับทัน)

อำเภอห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
ปราสาท บ้านปราสาท (ปราสาทห้วยทับทัน) ตั้งอยู่ที่วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท จากตัวเมืองศรีสะเกษเดินทางไปตามทางหลวงสาย 226 ประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงอำเภอห้วยทับทัน แล้วเลี้ยวขวาตามทางลูกรังไปอีก 8 กิโลเมตร ปราสาทห้วยทับทันเป็นโบราณสถาณแบบขอมแห่งหนึ่ง ที่ถูกดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะส่วนหลังคาซึ่งคล้ายคลึงกันมาก แต่มีขนาดสูงกว่าประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเดิมมี 3 หรือ 4 ทิศ ปัจจุบันคงเหลือเพียงด้านทิศใต้เท่านั้น ปรางค์องค์กลางขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีก 2 องค์ ที่ขนาบข้างเล็กน้อยแต่ส่วนหลังคาเตี้ยกว่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง มีประตูเดียวด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีกรอบประตูหินทราย และทับหลังติดอยู่เป็นภาพบุคคลยืนอยู่เหนือหน้ากาล ส่วนท่อนพวงมาลัย มีลายมาแบ่งที่เสี้ยวภาพบุคคลยืนในซุ้มเรือนแก้ว ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นผู้ใดด้วยลายสลักยังไม่แล้วเสร็จ ปรางค์สององค์ที่ขนาบข้างขนาดเดียวกัน ได้รับการดัดแปลงรูปแบบไปมากโดยเฉพาะส่วนหลังคาและประตูซึ่งก่อทึบหมดทุก ด้าน ยังคงปรากฏกรอบประตูหินทราย และชิ้นส่วนทับหลัง สลักภาพการกวนเกษียรสมุทรตกอยู่หน้าประตูปรางค์องค์ที่อยู่ด้านทิศใต้ จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังที่ปรากฏอาจสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวนของเขมร และในสมัยหลังต่อมาได้รับการดัดแปลง  
การเดินทาง จากตัวเมืองศรีสะเกษ ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงอำเภอห้วยทับทัน แล้วเลี้ยวขวาตามทางอีก 8 กิโลเมตร

พระธาตุเรืองรอง

อำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ
พระ ธาตุเรืองรอง ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2-3 เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ 5 ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ


ปราสาทวัดสระกำแพงน้อย

อำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ
ปราสาท วัดสระกำแพงน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลขยง ห่างจากตัวจังหวัด 8.7 กิโลเมตร อยู่ด้านขวามือ ติดเส้นทางสายศรีสะเกษ-อุทุพรพิสัย (ทางหลวง 226) ปราสาทหินสระกำแพงน้อยประกอบด้วยปรางค์ และวิหารก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้าปรางค์มีสระน้ำใหญ่ ทั้งปรางค์ วิหาร และสระน้ำ ล้วนล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง เคยมีทับหลังประตูสลักเป็นพระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนประทับบนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เป็นศิลปะแบบบาปวนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 สันนิษฐานว่าปราสาทหินแห่งนี้เดิมเป็นศาสนสถานมาก่อน แล้วต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจมีการบูรณะหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ สังเกตได้จากมีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเรียกกันในสมัยนั้นว่า “อโรคยาศาล” หมายถึง สถานพยาบาล หรือสุขศาลาประจำชุมชนนั่นเอง
การเดินทาง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 226 (สายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย) อยู่ด้านขวามือ


ปราสาทปรางค์กู่

อำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
ปราสาท ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ อยู่ห่างจากศรีสะเกษเป็นระยะทาง ประมาณ 70 กิโลเมตร สามารถเดินทางเข้าถึงได้สองเส้นทางคือ ใช้เส้นทางศรีสะเกษ-สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง 2234 หรือใช้เส้นทางศรีสะเกษ-ขุขันธ์ แล้วแยกขวาเข้าเส้นทาง 2167 ปรางค์กู่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 10 กิโลเมตร ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิ ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว ด้านหน้าปรางค์กู่มีสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นทำเลพักหากินของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมีมากในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป


ปราสาทโดนตวล

อำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
ปราสาท โดนตวล ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิซรอล ตำบลบึงมะลู ห่างจากหมู่บ้าน 8 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทาง อำเภอกันทรลักษ์-ผามออีแดง เป็นปราสามขอมโบราณขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง บนเทือกเขาพนมดงรัก ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท


อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

อำเภอกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
อุทยาน แห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่ เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก ที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ผามออีแดง เป็น หน้าผาสูง 500 เมตร แบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มองเห็นทัศนียภาพ ของดินแดนเขมรต่ำได้กว้างไกลสุดตา และจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ในช่วงฤดูฝนจะปรากฏทะเลเมฆที่ไหลมาจากที่ราบแผ่นดินเขมรต่ำ มาปะทะหน้าผาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ไปเยือนผามออีแดงในฤดูนี้ จะได้มีโอกาสอาบเมฆอย่างแสนประทับใจ

ภาพสลักนูนต่ำ รูปแกะสลักโบราณ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้หน้าผามานับพันปี อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลัก ก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
สถูปคู่ ชาว บ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทราย ตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น
ปราสาทโดนตวล สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่บริเวณบ้านภูมิซรอล เป็นปราสาทหินแบบขอม ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทยห่างจากหน้าผาชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 300 เมตร มีตำนานเล่าว่านามนมใหญ๋ (เนียงเดาะทม) ได้แวะพักที่แห่งนี้ในขณะที่เดินทางไปเฝ้ากษัตริย์พระองค์หนึ่ง
แหล่งตัดหินเขาพระวิหาร เป็นร่องรอยการตัดหินเป็นก้อนสี่เหลี่ยม เพื่อนำไปสร้างปราสาทเขาพระวิหาร บนลานหินทรายของเทือกเขาพนมดงรัก โดยในเขตอุทยานฯค้นพบที่บริเวณลานหินผามออีแดง สถูปคู่ และบารายสระตราว
น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตก อยู่เหนือถ้ำขุนศรีสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสระตราว ใกล้เส้นทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในมีขนาดกว้างเชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรี ขณะมาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อใช้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร
เขื่อนห้วยขนุน เป็น อ่างเก็บน้ำชลประทาน และเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯเขื่อนห้วยขนุน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 15 กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่ แนะนำมีสองเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางผามออีแดง-สระตราว มีพรรณไม้ที่น่าสนใจมากมายอาทิ พืชสมุนไพร กล้วยไม้ และดอกหญ้าบนลานหินช่วงปลายฝนต้นหนาว เส้นทางศึกษาธรรมชาติกล้วยไม้เขาพระวิหาร ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีกล้วยไม้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะเอื้องระฟ้า กล้วยไม้เฉพาะถิ่น เป็นพืชเด่นที่พบมากในอุทยานฯ
ช่องอานม้า เป็น จุดผ่อนปรนในการค้าขายและผ่านแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี


การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ก่อนถึงอำเภอสีคิ้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 24 ผ่านอำเภอปักธงชัย อำเภอสังขะและอำเภอขุขันธ์ ถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 221 เลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอกันทรลักษ์ แล้วต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ หรือ จากจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2178 และ 221 ผ่านอำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง อำเภอเบญจลักษ์ และอำเภอกันทรลักษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พัก และสถานที่กางเต็นท์ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 0 9522 4265 , 0 1224 0779 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด)

อำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
 http://www.touronthai.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A7_(%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%94)-55000012.html
วัด ป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด) ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาล สิ่งปลูกสร้างภายในตกแต่งด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบนับล้านใบ ที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาค เป็นวัดที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะศาลาใหญ่ที่เรียกว่า ศาลาฐานสโม มหาเจดีย์แก้ว และนอกจากนี้ยังมีสิม (โบสถ์) อยู่กลางน้ำภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาว ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมาก
 
การเดินทาง จากศรีสะเกษไปอำเภอขุนหาญใช้ทางหลวงหมายเลข 211 และ 2111 ผ่านอำเภอพยุห์ อำเภอไพรบึงไปขุนหาญระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร


เที่ยววัด จังหวัดศรีสะเกษ

วัดมหาพุทธาราม

อำเภอเมือง จ.ศรีสะเกษ วัดมหาพุทธาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ มีวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.85 เมตร หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร


ปราสาทบ้านสมอ

อำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ปราสาทบ้านสมอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านทามจาน ตำบลสมอ ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 220 และ 2167 ประมาณ 52 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก ภายในขององค์ปรางค์มีรูปประติมากรรมจำหลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18


ปราสาทตาเล็ง

อำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ปราสาทตาเล็ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 บ้านปราสาท ตำบลกันทรารมย์ ลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวตั้งอยู่บนฐาน องค์ปรางค์มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงผนังด้านหน้าและผนังด้านข้างบางส่วน มีประตูเข้าได้เพียงประตูเดียวด้านหน้า อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ที่สำคัญคือเสาติดผนังของประตูหน้าทั้งสองข้างยังคงมีลวดลายก้านขดสลักเต็มแผ่นอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16–17 นอกจากนี้บนพื้นรอบๆ ยังมีทับหลังวางอยู่หลายชิ้น ชิ้นหนึ่งวางอยู่หน้าประตูด้านทิศเหนือ สลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาจากปาก และยึดท่อนพวงมาลัยนั้นไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ทับหลังชิ้นอื่นๆ ลักษณะคล้ายกัน ทับหลังชิ้นหนึ่งมีแนวภาพตอนบนสลักเป็นรูปฤาษี นั่งเรียงกันในท่าสมาธิ 7 ตอน จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่ปรากฏกล่าวได้ว่าปราสาทตาเล็ง สร้างขึ้นในศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1560–1630

การเดินทาง จากจังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงหมายเลข 220 จนถึงอำเภอขุขันธ์เลี้ยวขวาผ่านสถานีตำรวจไป 3 กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวซ้าย 300 เมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จนถึงบ้านปราสาท แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้ง ปราสาทตั้งอยู่ด้านขวามือ